นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชี้เงินคริปโต “ไม่เคยมีมูลค่า”
นายเบน เบอร์นันเก หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2565 ให้ความเห็นเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล “เป็นสิ่งที่ไม่มีราคาตั้งแต่ต้น”
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยอ้างข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ “ดาเกนส์ ไนเฮเตอร์” (ดีเอ็น) ซึ่งสัมภาษณ์นายเบน เบอร์นันเก นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน และอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ มีเนื้อหาในตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการเสื่อมราคา จนถึงขั้นล่มสลายของเงินคริปโตหลายสกุลในปีนี้ ว่า โดยส่วนตัวเขามองว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและไม่ได้สั่นคลอนระบบการเงิน เพราะเงินคริปโตหรือเงินดิจิทัล “ไม่เคยมีมูลค่าอยู่แล้วตั้งแต่ต้น”
เบอร์นันเกยกตัวอย่างบิตคอยน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิทัลเป็นที่รู้จักมากที่สุด และมีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบปีล่าสุด ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับบิตคอยน์ ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อกลไกการเงินโลกแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีธนาคารกลางและสถาบันการเงินของประเทศใดบนโลก ครอบครองสินทรัพย์จำนวนมหาศาล ในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัล
อนึ่ง เบอร์นันเก ศ.ดักลาส ไดมอนด์ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ในสหรัฐ และ ศ.ฟิลิป ดิบวิก จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ในสหรัฐ ร่วมกันรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ จากผลงาน “การวิจัยเกี่ยวกับการธนาคารและวิกฤติการเงิน”
ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสามคน จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ เหรียญรางวัลโนเบล และเงินรางวัล 10 ล้านโครนาสวีเดน (ราว 33.76 ล้านบาท) แบ่งเป็นสามส่วน โดยพิธีรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ที่กรุงสตอกโฮล์ม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเสียชีวิตของ นายอัลเฟรด โนเบล.